CMU Model สร้างชุมชนต้นแบบ เพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและแก้ปัญหาหมอกควันอย่างยั่งยืน

8 ก.พ. 2564


หมอกควันไฟป่าที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคเหนือ เป็นปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน ทำให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ที่มีปริมาณสูงกว่าระดับมาตรฐานคุณภาพอากาศของประเทศไทย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด และเพื่อการแก้ไขปัญหาหมอกควันอย่างเป็นรูปธรรม จึงได้เกิดโครงการ CMU Model ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เน้นแนวทางการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมระหว่างชุมชน โดยยกบ้านป่าตึงงาม ตำบลปิงโค้ง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพื้นที่นำร่องและเป็นโมเดลต้นแบบ เพื่อการจัดการพื้นที่อนุรักษ์ดินน้ำป่าแบบมีส่วนร่วม ส่งเสริมการเกษตร และต่อยอดผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นสร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ ลดการเผา ยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชน ร่วมแก้ปัญหาหมอกควันไฟป่าอย่างยั่งยืน

CMU Model เป็นการส่งเสริมและสนับสนุนความรู้ด้านวิชาการและนวัตกรรมในมิติต่างๆ โดยได้จัดตั้งคณะทำงานที่ได้ความร่วมมือจากหลายคณะในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์คณะเกษตรศาสตร์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ ซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ร่วมกับอุทยานแห่งชาติฯ โดยมีเป้าหมายในการมุ่งเน้นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ได้ดำเนินกิจกรรมตามแนวทางการบริหารจัดการป่าอนุรักษ์แบบมีส่วนร่วมภายในอุทยานแห่งชาติศรีลานนา เพื่อแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าอย่างมีประสิทธิภาพสู่การทำงานจริงเชิงพื้นที่ มีการจัดประชุมวางแผนประจำเดือนร่วมกับชาวบ้าน สร้างความเข้าใจและผลักดันการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ส่งผลกระทบต่อสัตว์ป่า ความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศภายในอุทยานฯป่า รวมถึงการติดตามเฝ้าระวังการเกิดหมอกควันได้ทันสถานการณ์ ทำแผนจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนป่าตึงงาม ในการส่งเสริมการพัฒนาอาชีพในชุมชน อีกทั้งสนับสนุนให้เกิดพื้นที่เรียนรู้ชุมชนกับป่า การจัดกิจกรรมปลูกไผ่เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าและสร้างฝายชะลอน้ำ ตลอดจนสร้างหลักสูตรฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ คนในชุมชน และชุมชนอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อการพัฒนาภายใต้กรอบแนวทางในการบริหารจัดการพื้นที่ตำบลปิงโค้ง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่

นอกจากนี้ ได้ส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากทรัพยากรของชุมชนพื้นที่นำร่อง ก่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ ภายใต้ชื่อ Zhakara ภูมิปัญญาชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ ที่เกิดการผสมผสานกับงานออกแบบสมัยใหม่ทำให้งานมีคุณค่า เป็นการสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ ยกระดับคุณภาพชีวิตจากสร้างอาชีพตามภูมิปัญญาท้องถิ่นและสามารถนำมาใช้ได้จริง โดยได้นำมาจัดแสดงในงานนวัตกรรมและจัดจำหน่ายสินค้า Lanna Expo 2020

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และหน่วยงานทุกภาคส่วน มุ่งมั่นที่จะพัฒนา CMU Model ให้ประสบผลสำเร็จ เป็นต้นแบบชุดองค์ความรู้ในการขยายผลไปยังพื้นที่และชุมชนอื่นๆ เพื่อการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้คงความอุดมสมบูรณ์ และสามารถอำนวยประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมแก่ชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนที่อยู่กับป่าให้สามารถดำรงชีพตามวิถีชีวิตดั้งเดิมและร่วมมือในการดูแลรักษาป่าไปพร้อมกัน


เข้าชม 997 ครั้ง

รูปเพิ่มเติม