Hello

Let's be friends.
Get latest update for our trusted applications

หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสังคมศาสตร์

Master of Arts Program in Social Science

หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสังคมศาสตร์

Master of Arts Program in Social Science
คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ชื่อปริญญา
ภาษาไทย
ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (สังคมศาสตร์)

ศศ.ม. (สังคมศาสตร์)

English
Master of Arts (Social Science)

M.A. (Social Science)

หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสังคมศาสตร์
ปรัชญา

หลักสูตรนี้ได้รับการออกแบบและพัฒนาต่อเนื่องมาบนฐานของปรัชญาของการบูรณาการสาขาวิชาต่าง ๆ ทางสังคมศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สาขาภูมิศาสตร์ สังคมวิทยา มานุษยวิทยา การศึกษาการพัฒนา สตรีศึกษาและเพศภาวะศึกษา และชาติพันธุ์สัมพันธ์ ซึ่งคณะสังคมศาสตร์มีความพร้อมทั้งด้านองค์ความรู้ ประสบการณ์การวิจัย และบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ เพื่อให้เกิดการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และความสามารถในการวิเคราะห์ความสลับซับซ้อนของปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสังคม ตลอดจนการสังเคราะห์ให้เห็นภาพรวมของปัญหาในทุกมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาที่มาจากผลกระทบของการพัฒนาที่นำโดยรัฐ เช่น นโยบายการพัฒนา กฎหมาย ระบบการเมืองและการบริหาร โครงสร้างทางเศรษฐกิจ ระบบภาษี การเงินและการคลัง การผลิตภาคการเกษตร อุตสาหกรรม และการบริการ ระบอบการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนระบบสาธารณสุขของประเทศ
นอกจากนั้นแล้วหลักสูตรยังคำนึงถึงบริบทเฉพาะหน้าและสถานการณ์เร่งด่วนปัจจุบัน เช่น การเปลี่ยนแปลงทางด้านการพัฒนาในระดับภูมิภาคของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายใต้อิทธิพลของกระแสการพัฒนาของลัทธิเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ การขยายอำนาจและอิทธิพลทางเศรษฐกิจของประเทศจีนในรูปแบบของอำนาจละมุน (soft power) โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในลุ่มแม่น้ำโขง รวมถึงการเปลี่ยนแปลงไปสู่วิถีใหม่ของสังคมในยุคการระบาดของไวรัสโควิด-19 และหลังยุคโควิด-19 ซึ่งวิถีชีวิตของผู้คนที่ได้รับผลกระทบอาจจะไม่หวนกลับไปเหมือนเดิมอีกต่อไป หลักสูตรยังให้ความสำคัญถึงกลุ่มคนเล็กคนน้อยกลุ่มต่าง ๆ ในสังคมที่ต้องเผชิญกับปัญหาความท้าทายใหม่ กระบวนการรับมือกับปัญหาวิกฤติ ศักยภาพในการตอบโต้กับปัญหา การสร้างนวัตกรรมทางสังคมเพื่อยืนหยัดวิถีการดำรงชีพและวัฒนธรรมท้องถิ่น
นอกเหนือจากการพัฒนาหลักสูตรบัณฑิตศึกษานานาชาติตามมาตรฐานทางวิชาการแล้ว หลักสูตรนี้ยังกำหนดภารกิจให้เป็นสถาบันทางวิชาการที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลในด้านการศึกษาการพัฒนา การสร้างมหาบัณฑิตที่มีความรู้ มีเครื่องมือทางความคิดและการวิเคราะห์ มีความสามารถในการคำถามตั้งเชิงวิพากษ์ มีเทคนิคการวิจัยที่คำนึงถึงสิทธิและอำนาจของผู้คนที่เกี่ยวข้องกับปัญหาและกระบวนการวิจัย เพื่อสร้างพื้นที่และโอกาสให้กับผู้คนที่หลากหลายในการมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจในนโยบายและแผนงานพัฒนาที่มีผลโดยตรงต่อวิถีการดำรงชีพของคนในท้องถิ่น ตลอดจนเสริมสร้างอำนาจและศักยภาพของผู้คนเหล่านี้ ให้สามารถดำรง รักษา และฟื้นฟูสภาพการดำเนินชีวิตในกระแสการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

หลักสูตรนี้ให้ความสำคัญกับการใช้เครื่องมือทางแนวคิดเชิงทฤษฎีและวิธีวิทยาทางสังคมศาสตร์ในการวิเคราะห์และสร้างคำอธิบายการ เปลี่ยนแปลงของสังคม แนวทางการแก้ปัญหา ปรับกระบวนการพัฒนาและการเสริมสร้างความมั่นคงของวิถีชีวิตของผู้คนกลุ่มต่างๆ ซึ่งจำแนกออกได้ 4 แขนงวิชา คือ

แขนงที่ 1 การศึกษาการพัฒนา (Development Studies)
เป็นการศึกษาการพัฒนาที่นำเอาทฤษฎีทางสังคม-วัฒนธรรม และทฤษฎี การพัฒนาร่วมสมัยมาวิเคราะห์และสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับปัญหาการพัฒนาที่มีความเป็นพลวัตทั้งในมิติของพื้นที่และเวลา โดยเน้นไปที่ปัญหาปัจจุบันของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่กำลังอยู่ในกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่การบูรณาการทางพื้นที่ เศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม และการเมือง ซึ่งผู้คนต้องเผชิญกับผลกระทบของการพัฒนาที่มีต่อฐานทรัพยากรในการดำรงชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ดิน ระบบนิเวศแม่น้ำป่าไม้ การประมง และบริการทางนิเวศอื่นๆ ปัญหาการพัฒนาเหล่านี้มีความเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงเชิงเศรษฐกิจ-การเมือง และภูมิรัฐศาสตร์ที่ระเบียบโลกของเสรีนิยมใหม่กำลังแผ่ขยายอิทธิพลข้ามเขตแดนในระดับต่างๆ ส่งผลให้เกิดการเคลื่อนย้ายถ่ายเทของผู้คน ทุน แรงงานและข้อมูลข่าวสารที่ได้รับการเร่งเร้าจากการพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านการคมนาคมและการสื่อสาร

แขนงที่ 2 ชาติพันธุ์สัมพันธ์และการพัฒนา (Ethnicity and Development)
เป็นการศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางชาติพันธุ์ ในมิติทางประวัติศาสตร์ การเมือง เศรษฐกิจและการพัฒนา ในพลวัตรัฐชาติสมัยใหม่และอิทธิพลของเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ เป็นวิธีวิทยาเพื่อทำความเข้าใจต่อคุณค่าของความหลากหลายทางวัฒนธรรม สิทธิมนุษยชน อันนำไปสู่การแสวงหาวิธีการอยู่ร่วมกันอย่างสันติในสังคมพหุวัฒนธรรม รวมทั้งตระหนักถึงศักยภาพของภูมิปัญญาท้องถิ่นและการปรับตัวของกลุ่มชาติพันธุ์และกลุ่มทางสังคมอื่นๆ ในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ท่ามกลางกระแสการพัฒนายุคโลกาภิวัตน์

แขนงที่ 3 สังคมศาสตร์สุขภาพ (Health Social Sciences)
การให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสุขภาพในมิติทางสังคมศาสตร์ โดยเน้นการสร้างความเข้าใจและเสริมสร้างงานด้านสุขภาพ และสุขภาวะ (Well-being) อย่างเป็นองค์รวมภายใต้บริบทการปฏิสัมพันธ์ระหว่างระบบสังคมและนิเวศวิทยา ทั้งในพื้นที่เมืองและชนบท โดยเฉพาะประเด็นปัญหาสุขภาพที่เชื่อมโยงกับระบบเกษตร อุตสาหกรรม อาหาร พลังงาน และสิ่งแวดล้อม ภายใต้กลุ่มสังคมที่หลากหลายทางด้านชนชั้น เพศภาวะ ชาติพันธุ์ และช่วงวัย

แขนงที่ 4 สตรีศึกษาและเพศภาวะศึกษา (Women’s and Gender Studies)
เน้นการสร้างและเสริมองค์ความรู้ทางด้านสตรีศึกษาและเพศภาวะศึกษาที่มีลักษณะเชิงวิพากษ์และสหสาขาวิชา (Critical Interdisciplinary) ที่ครอบคลุมศาสตร์ต่าง ๆ ทั้งมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และอื่น ๆ โดยให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงการพัฒนาในประเด็นปัญหาสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม แบบเชื่อมโยงบนรากฐานของระเบียบทฤษฏีพลวัตระหว่างหน่วยย่อยทางสังคม (Intersectionality Theory) ซึ่งให้ความสำคัญกับการใช้หน่วยวิเคราะห์ที่หลากหลาย อาทิเช่น ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างหญิงชาย เพศภาวะ ชนชั้น ชาติพันธุ์ และอายุ เพื่อบรรลุเป้าหมายสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นธรรมทางเพศและเพศภาวะ
และพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อสิทธิสตรี ทั้งในระดับท้องถิ่น ประเทศ ภูมิภาค และนานาชาติ โดยคำนึงถึงประสบการณ์และคุณภาพชีวิตของผู้หญิง ผู้มีเพศภาวะหลากหลายและกลุ่มต่าง ๆ ในสังคม

นอกจากนั้น หลักสูตรนี้ยังมุ่งที่จะสร้างสรรค์และพัฒนาวิธีการศึกษาและวิจัยที่เน้นการสร้างองค์ความรู้จากการนำเอาแนวคิดทฤษฎีไปใช้ในการปฏิบัติการงานวิจัยในพื้นที่ ด้วยการประยุกต์ใช้แนวคิดที่มีความเป็นนามธรรมในระดับต่างๆ ให้สามารถวิเคราะห์ปัญหาการการเปลี่ยนแปลงของสังคมอย่างเป็นรูปธรรม โดยนำเอากรณีศึกษาที่ได้มาจากประสบการณ์จริงในระดับท้องถิ่น แต่ในขณะเดียวกันก็คำนึงถึงความสอดคล้องกับเงื่อนไขและบริบททางสังคม สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมในระดับต่างๆ ด้วย

หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสังคมศาสตร์
คุณสมบัติผู้เข้าศึกษา

1. เป็นไปตามประกาศมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรื่องการรับสมัครเข้าศึกษาต่อในระดับบัณฑิตศึกษาในแต่ละปีการศึกษา
2. เป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่าทุกสาขาวิชา มีผลการศึกษาได้ค่าลำดับขั้นสะสมเฉลี่ยทั้งหมดไม่น้อยกว่า 2.5 หรือเทียบเท่าจากสถาบันอุดมศึกษาที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ
3. พื้นฐานความรู้ความสามารถ และศักยภาพเพียงพอที่จะทำวิทยานิพนธ์ได้ โดยให้เป็นไปตามเงื่อนไขของคณะกรรมการบริหารหลักสูตรบัณฑิตศึกษาประจำสาขาวิชา
4. มีความรู้ภาษาอังกฤษตามเงื่อนไขของบัณฑิตวิทยาลัย
5. คุณสมบัติอื่น ๆ ให้เป็นไปตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ว่าด้วยการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาพ.ศ. 2559
6. คุณสมบัตินอกเหนือจากนี้ ให้อยู่ในดุลยพินิจของคณะกรรมการบริหารหลักสูตรประจำสาขาวิชา

หลักสูตรแบบ 2
1. ให้เป็นไปตามประกาศมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรื่องการรับสมัครเข้าศึกษาต่อในระดับบัณฑิตศึกษาในแต่ละปีการศึกษา
2. เป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี หรือเทียบเท่าจากสถาบันอุดมศึกษาที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ
3. มีความรู้ภาษาอังกฤษตามเงื่อนไขของบัณฑิตวิทยาลัย
4. คุณสมบัติอื่น ๆ ให้เป็นไปตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ว่าด้วยการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ. 2559
5. คุณสมบัตินอกเหนือจากนี้ ให้อยู่ในดุลยพินิจของคณะกรรมการบริหารหลักสูตรประจำสาขาวิชา

หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสังคมศาสตร์
อาชีพหลังสำเร็จการศึกษา

- นักวิจัย
- อาจารย์/นักวิชาการ
- นักพัฒนาชุมชน
- นักพัฒนาองค์กรทั้งใน และต่างประเทศ
- ผู้ฝึกอบรมความรู้ทางด้านสังคมศาสตร์

หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสังคมศาสตร์
โครงสร้างหลักสูตร/แผนการศึกษา
โครงสร้างหลักสูตร
ดาวน์โหลด
แผนการศึกษา
ดาวน์โหลด
หลักสูตร
ดาวน์โหลด