Hello

Let's be friends.
Get latest update for our trusted applications

พบปะนักวิจัย คณะสังคมศาสตร์

Meet Our Researcher

แอพลิเคชัน ‘FireD’ : เมื่อการใช้ ‘ไฟ’ ยัง ‘จำเป็น’

15/04/2021



ปัญหาฝุ่นควันและปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินค่ามาตรฐาน (PM 2.5)  ได้กลายเป็นปัญหาประจำถิ่นที่เวียนมาสร้างผลกระทบต่อสุขภาพของคนเชียงใหม่เป็นประจำทุกปี โดยปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่เป็นที่มาของฝุ่นควันคือ การเผาในภาคการเกษตร  ผศ.ดร.ชาคริต โชติอมรศักดิ์  อาจารย์ประจำภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และในอีกบทบาทหนึ่งมีตำแหน่งเป็นหัวหน้าศูนย์ภูมิภาคเพื่อการศึกษาด้านภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (Regional Center for Climate and Environmental Studies: RCCES)  เห็นว่า เราไม่สามารถบังคับให้เกษตรกรหรือผู้ประกอบอาชีพในภาคการเกษตรหยุดใช้ไฟในการเผาได้ เนื่องจากมีปัจจัยหลายประการ ซึ่งทำให้ไฟยังคงมี ‘ความจำเป็น’ อยู่

“การที่ปัญหาหมอกควันยังมีอยู่ ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ภาคการเกษตรยังมีการใช้ไฟเพื่อประกอบอาชีพ ซึ่งเราไม่สามารถบังคับให้เกษตรกรหยุดใช้ไฟได้ เนื่องด้วยหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของค่าใช้จ่ายที่สูงหรือการใช้เวลาในการจัดการ ซึ่งวิธีในการจัดการไร่นาที่ไวที่สุดคือ การใช้ไฟ”  ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ผศ.ดร.ชาคริต โชติอมรศักดิ์ ได้สร้างแอพพลิเคชั่นชื่อว่า FireD  เป็นระบบสนับสนุนการตัดสินใจการบริหารจัดการเชื้อเพลิงชีวมวลหรือการลงทะเบียนขอใช้ไฟจำเป็นเท่านั้น สำหรับประชาชนที่ต้องจัดการเชื้อเพลิง จะต้องแจ้งคำร้องไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ลงทะเบียนในระบบ จากนั้นเจ้าหน้าที่จะนำข้อมูลคำร้องไปพิจารณา โดยข้อมูลจะส่งไปยังศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ เพื่อพิจารณาสภาพอากาศในปัจจุบัน  สถานการณ์ฝุ่นควัน PM 2.5  ผลการพยากรณ์คุณภาพอากาศที่คาดการณ์ล่วงหน้า  3 วัน รวมไปถึงการคำนวณดัชนีการระบายอากาศ เพื่อหาความเหมาะสมในการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในแต่ละวัน เพื่อสามารถจัดการปัญหาฝุ่นควันและไฟป่าอย่างมีประสิทธิภาพ


“ในฐานะนักวิจัย สถานการณ์ฝุ่นควันที่เกิดขึ้นทางภาคเหนือทุกปี ประกอบไปด้วย 3 ปัจจัยหลักๆ คือ หนึ่ง ปัจจัยในเรื่องของแหล่งกำเนิด ปีไหนที่แหล่งกำเนิดมากปีนั้นก็จะมีปัญหาฝุ่นควันที่มาก สอง ปัจจัยด้านสภาพภูมิประเทศ ก็มีลักษณะภูมิประเทศที่เอื้อต่อการสะสมมลพิษทางภูมิอากาศ ลักษณะเป็นแอ่ง และปัจจัยสุดท้าย คือ ปัจจัยด้านสภาพภูมิอากาศ ตรงนี้สำคัญซึ่งมันเกี่ยวข้องกับงานที่ผมนั้นทำอยู่ คือ ศึกษาเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ ลักษณะงานวิจัยที่ทำจะเป็นลักษณะการใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์หรือเป็นนแบบจำลองคอมพิวเตอร์ จะเป็นลักษณะของการคำนวณ เรียกว่าการศึกษาปัจจัยทางสภาพภูมิอากาศและการพยากรณ์ล่วงหน้าว่า สภาพอากาศใน 2-3 วันข้างหน้ามีโอกาสที่จะไปเอื้อต่อการสะสมของมลพิษทางอากาศรึเปล่า” ผศ.ดร.ชาคริตกล่าวถึงงานวิจัยที่เป็นที่มาของแอพลิเคชั่น FireD ซึ่งมีเทคโนโลยีที่ช่วยในการคำนวณและพยากรณ์สภาพภูมิอากาศล่วงหน้าว่าในแต่ละพื้นมีความเหมาะสมต่อการจัดการเชื้อเพลิงหรือการเผาหรือไม่เพียงใด

“ในส่วนของปัจจัยที่เราไม่สามารถรู้ล่วงหน้าได้นั้นก็คือ แหล่งกำเนิด เรื่องไฟที่จะเกิด ไม่สามารถรู้ได้ว่าไฟในอีก 2-3 วันจะเกิดขึ้นที่ไหน แต่ในอนาคตอาจจะพัฒนาให้แอพลิเคชั่นตัวนี้คาดเดาในการเกิดขึ้นได้ สิ่งที่ทำได้ในตอนนี้คือการดูสถานการณ์ปัจจุบัน ถ้าแหล่งกำเนิดเป็นแบบนี้ ในอีก 3 วันจะเป็นอย่างไรต่อไป ซึ่งการเกิดสิ่งเหล่านี้ก็จะอ้างอิงไปถึงพื้นที่นั้นๆ ได้ด้วย”

ผศ.ดร.ชาคริต กล่าวถึงสถานการณ์สภาพภูมิอากาศในปี 2654 ว่าปีนี้เป็นปี “ ลานินญา ” โดย ฝนจะตกหนักผิดปกติและจะเย็นกว่าปกติ ซึ่งหากเป็นสถานการณ์ในอดีต หากปีไหนที่มีฝนตกมากก็จะทำให้ปัญหาฝุ่นควันน้อยลง แต่ในสภาวะปัจจุบัน แหล่งกำเนิดเป็นปัจจัยที่สำคัญ หากมีแหล่งกำเนิดที่มากขึ้น ถึงแม้ว่าจะมีฝนหรือสภาพภูมิอากาศที่เย็นก็ไม่ช่วยให้ปัญหาฝุ่นควันนั้นจางให้ไปได้เลย




ข้อมูลเพิ่มเติม :
ศูนย์ภูมิภาคเพื่อการศึกษาด้านภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (Regional Center for Climate and Environmental Studies: RCCES)
อาคารปฏิบัติการ ชั้น 3 คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 39 ถนนห้วยแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย 50200
โทร. 053-943-527
อีเมล์: rcces_cmu@gmail.com
เว็บไซต์:  https://www.rcces.soc.cmu.ac.th/