มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับมหาวิทยาลัยมัณฑะเลย์ จัดการประชุมวิชาการนานาชาติพม่าศึกษา ครั้งที่ 3 (ICBMS 3) ภายใต้ธีม Myanmar/Burma in the Changing Southeast Asian Context ในระหว่างวันที่ 5 – 7 มีนาคม 2564 โดยเปิดให้มีการเข้าร่วมงาน 2 รูปแบบ คือ แบบออนไลน์ (ผ่านช่องทาง Livestream, Facebook Live, และ Zoom Meeting) และเข้าร่วมงาน ณ สำนักบริการวิชาการ (Uniserv Green Nimman) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
สืบเนื่องจากความร่วมมือทางวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยมัณฑะเลย์ในการสลับกันเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการนานาชาติพม่าศึกษา (International Conference on Burma/Myanmar Studies) ทุก ๆ 2 ปี เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นเจ้าภาพ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมของสหภาพเมียนมา สร้างความเข้มแข็งทางวิชาการให้นักวิชาการชาวพม่ารุ่นใหม่ และส่งเสริมให้มีเวทีสำหรับการแลกเปลี่ยนทางวิชาการระหว่างนักวิชาการพม่า นักวิชาการไทยและภูมิภาคอื่น ๆ ที่มีความสนใจในประเด็นพม่าศึกษาได้มาพบปะแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ร่วมกัน
การประชุมวิชาการนานาชาติพม่าศึกษา ครั้งที่ 3 (ICBMS 3) ได้เริ่มอย่างเป็นทางการ เมื่อวันศุกร์ที่ 5 มีนาคม 2564 โดยได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์ นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ Professor Dr. Thein Win รักษาการ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมัณฑะเลย์และผู้อำนวยการทั่วไป กรมอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ สหภาพเมียนมา และ ฯพณฯ สุพัตรา ศรีไมตรีพิทักษ์ เอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงย่างกุ้ง สหภาพเมียนมา ร่วมเปิดการประชุม และต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมที่มาจากทั้งภาครัฐ และภาคประชาชน ที่เข้าร่วมงานทั้งแบบออนไลน์ (228 คน) และเข้าร่วมงาน ณ สถานที่จัดประชุม (163 คน) จำนวนรวม 391 คน ประกอบด้วย คณาจารย์ นักวิชาการ นักวิจัย นักศึกษาจากสถาบันต่างๆ ที่ปรึกษา บุคลากรจากองค์กรภาครัฐ องค์กรระหว่างประเทศ องค์กรไม่แสวงผลกำไร/องค์กรภาคประชาชน สื่อ และผู้สนใจ จากหลากหลายประเทศ อาทิ ไทย สหภาพเมียนมา สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส สาธารณรัฐประชาชนจีน เยอรมัน แคนาดา ญี่ปุ่น ฯลฯ
การประชุมในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ในการแสดงปาฐกถาพิเศษ เรื่อง Economic Development and Myanmar in the New Geopolitical Landscape และจากผู้ทรงคุณวุฒิและนักวิชาการอาวุโสด้านพม่า/เมียนมาศึกษา ที่เป็นที่ยอมรับระดับนานาชาติ มาร่วมแลกเปลี่ยนในหัวข้อเรื่อง “Reflections on the Military Coup and Civil Disobedience Movement in Myanmar” ? จำนวน 3 ท่าน คือ (1) Dr. Khin Mar Mar Kyi จากมหาวิทยาลัยออซ์ฟอร์ด (2) Ms. Naw May Oo Mutraw จาก Salween Institute for Pulic Policy และ (3) Dr. Ashley South นักวิจัยสมทบ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานเป็นอย่างมาก
ในการจัดการประชุมในครั้งนี้ มีกลุ่มการนำเสนอ (Panels) ถึง 22 กลุ่ม ซึ่งประกอบด้วยการนำเสนอผลงาน จำนวน 81 งาน และมีการจัดเวทีเสวนาโต๊ะกลมแบบพิเศษอีก 4 เวที การนำเสนอผลงานแต่ละกลุ่มย่อย ได้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมฟังทั้งแบบออนไลน์และ ณ สถานที่จัดงาน ได้ซักถาม แสดงความคิดเห็น ให้ข้อเสนอแนะ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้นำเสนองานอย่างเปิดกว้าง ทำให้บรรยากาศการจัดการประชุมเป็นไปอย่างเป็นกันเองและมีประสิทธิภาพ และนับเป็นการประชุมที่มีเป็นการรวมตัวของกลุ่มนักวิชาการที่สนใจในประเด็นพม่า/เมียนมาศึกษา ซึ่งนำไปสู่การสร้างและขยายเครือข่ายทางวิชาการระหว่างกลุ่มนักวิชาการเหล่านี้ต่อไป นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการจัดกิจกรรมอื่น ๆ ที่สร้างสีสัน และได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมประชุมอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการจัดแสดงนิทรรศการภาพถ่าย จำนวน 10 นิทรรศการ การเปิดตัวหนังสือ 4 เรื่อง การฉายหนังและร่วมพูดคุยกับผู้กำกับหนัง 3 เรื่อง โดยในพิธีปิดการประชุมในวันอาทิตย์ที่ 7 มีนาคม 2564 Dr. Wolfram Schaffar แห่ง Institute of Asian and Oriental Studies, Tübingen University ให้เกียรติเป็นผู้กล่าวสรุปและปิดการประชุม
อนึ่ง แม้การจัดการประชุม ICBMS3 จะจัดขึ้นในช่วงเวลาที่สหภาพเมียนมาเผชิญกับสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศอย่างรุนแรง ส่งผลให้ผู้ที่จะนำเสนอบทความหรือร่วมแลกเปลี่ยนทางวิชาการจากสหภาพเมียนมาจำนวนหนึ่ง ไม่สามารถเข้าร่วมนำเสนอผลงานได้ตามกำหนด คณะกรรมการวิชาการการจัดการประชุมวิชาการนานาชาติพม่าศึกษา ครั้งที่ 3 จึงมีกำหนดจะให้ผู้ที่ไม่สามารถนำเสนอบทความหรือร่วมแลกเปลี่ยนทางวิชาการในเวทีการประชุมครั้งนี้ ได้นำเสนอผลงานหรือจัดเวทีแลกเปลี่ยนทางวิชาการในรูปแบบของการสัมมนาย่อย ในภายหลัง ซึ่งสามารถติดตามการประชาสัมพันธ์การจัดสัมมนาย่อยนี้ได้ทาง Facebook: https://www.facebook.com/burmaconference หรือเว็บไซต์ www.burmaconference.com
รูปเพิ่มเติม